OKay Training | บทความ จุดอ่อนของมนุษย์

จุดอ่อนของมนุษย์

พระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ฝึกได้

มนุษย์เรานี้ต้องพัฒนาตน พระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกแล้วก็เป็นสัตว์ที่ประเสิรฐด้วยการฝึก เรามักจะพูดกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ยอมรับอย่างนั้น ท่านว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก คือต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็ประเสริฐ ถ้าไม่ฝึกแล้วไม่ประเสริฐเลย

การฝึกนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ประเสริฐเลิศขึ้นมาได้ และการฝึกก็คือการศึกษาพัฒนานั่นเอง พัฒนาก็คือฝึกฝนปรับปรุงตน ให้ดีให้งามยิ่งขึ้น

มนุษย์เป็นสัตว์ที่แปลกจากสัตว์ทั้งหลายอย่างอื่น สัตว์ชนิดอื่นเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ และในแง่สัญชาตญาณนั้นมันเก่งกว่ามนุษย์ พอเกิดมาสัตว์ทั้งหลายก็ช่วยตัวเองได้แทบจะทันที หลายอย่างพอออกจากท้องแม่ก็เดินได้ทันที เริ่มหาอาหารได้เลย ว่ายน้ำได้เลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ห่านออกจากไข่ตอนเช้า อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาแม่ห่านออกจากเล้ามาลงสระน้ำ ลูกห่านก็วิ่งตามลงสระน้ำ มันวิ่งได้ แมลงว่ายน้ำมันก็ว่ายตามได้เลย และแม่มันไปหากินอะไรมันก็จิกด้วยเลย แสดงว่าในวันที่มันเกิดนั้นเองมันก็ช่วยตัวเองได้ สัตว์ทั้งหลายอีกจำนวนมากก็เป็นอย่างนั้น

แต่มนุษย์ไม่มีมีความสามารถอย่างนี้ มนุษย์เกิดจากท้องแม่วันนั้นถ้าไม่มีคนช่วยก็ตายแน่นอน อย่าว่าแต่วันนั้นเลยให้อยู่ถึงปีก็ยังหากินไม่ได้ ทำอะไรช่วยตัวเองไม่ได้เลย โดยสัญชาตญาณมนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด อะไรๆ ก็ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก แทบไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ ด้วยสัญชาตญาณเลย วิธีการอะไรก็ตามที่มนุษย์ใช้ดำเนินชีวิต แม้แต่การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การกิน การขับถ่าย การพูด มนุษย์ต้องได้มาด้วยการเรียน ด้วยการฝึกทั้งสิ้น แต่การฝึกฝนเรียนรู้ที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์นี้แหละกลับเป็นข้อดีหรือข้อได้เปรียบของมนุษย์ พูดได้ว่า มนุษย์มีดีก็ตรงที่ฝึกได้นี่เอง

นับแต่วันที่เกิดมาแล้วมนุษย์ก็สามารถเรียนรู้รับการฝึกสอนถ่ายทอดความรู้ความคิดสิ่งที่สั่งสมอบรมมาเป็นพันปีหมื่นปีล้านได้ในเวลาไม่นาน ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่เก่งด้วยสัญชาตญาณ แต่สัญชาตญาณของตัวมีเท่าใดเมื่อเกิดมาก็คงอยู่เท่านั้น เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น เรียนรู้ได้น้อยอย่างยิ่ง

ดังนั้น มนุษย์ที่ฝึกแล้วจึงประเสริฐเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายไม่มีอะไรจะเก่งเท่ามนุษย์ในด้านการฝึก พอมีการฝึกขึ้นมาแล้วมนุษย์ก็เก่งที่สุด สัตว์ทั้งหลายอื่นอยู่ได้แค่สัญชาตญาณส่วนมากฝึกตัวเองไม่ได้เลย บางชนิดฝึกได้บ้างคือมนุษย์จับมาฝึกให้จึงเก่งขึ้นมาบ้าง เช่นช้างที่คนฝึกให้แล้วก็มาลากซุงได้ มาเล่นละครสัตว์ได้ ลิงที่คนฝึกให้แล้วก็ขึ้นต้นมะพร้าวได้ และแม้มนุษย์ฝึกให้ก็มีขอบเขตของการฝึกอีก ฝึกเกินกว่านั้นก็ไปไม่ได้ ต่างจากมนุษย์ มนุษย์ฝึกตัวเองได้ ไม่ต้องหาใครมาฝึก แล้วฝึกได้อย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัดเลย เรียกว่าฝึกอย่างไรก็เป็นได้อย่างนั้น ฝึกให้เป็นมหาบุรุษหรือเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้

พระพุทธเจ้านั้นเราถือเป็นสรณะ เพราะเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ฝึกตนให้เห็นว่ามนุษย์เรานี้สามารถฝึกฝนพัฒนาตนได้ขนาดนี้เชียวนะ ฝึกจนกระทั่งไม่มีทุกข์ไม่มีกิเลส มีปัญญาค้นพบสัจจธรรม ความดีเลิศอะไร ๆ ก็ทำได้หมด

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า วรมสฺสตรา ทนฺตา สัตว์ทั้งหลายเช่น วัว ควาย ช้าง ม้า อะไรต่างๆ เหล่านี้ ฝึกแล้วเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เทียมเท่ามนุษย์ มนุษย์ฝึกแล้วประเสริฐไม่มีใครมาเทียบเท่า ฝึกไปฝึกมาพัฒนาตนจนกระทั่งเทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ กลับมาบูชามนุษย์

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้ไว้มาก เพื่อให้มนุษย์เห็นตระหนักในศักยภาพของตนในการฝึกฝนพัฒนา แต่รวมแล้วมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง พอฝึกแล้วก็พัฒนาได้อย่างไม่มีขีดขั้น เมื่อเรามองตัวว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกตัวเองได้ ก็จะเห็นว่าการอยู่ในสังคมและการทำงานอาชีพต่างๆ นั้น เป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งนั้น โดยเฉพาะการงานอาชีพนั้น เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา ถ้าเราจะฝึกตนให้ได้มาก เราก็ต้องฝึกกับงานของเรานี้ เพราะว่างานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา จะฝึกจากเรื่องอื่นก็ไม่ค่อยได้เท่าไรเพราะโอกาสมีน้อย

ขอย้ำว่า การงานอาชีพครองชีวิตและเวลาส่วนใหญ่ของเรา ชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับงานทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะฝึกฝนพัฒนาตนให้มากๆ เราก็เอางานนี่แหละเป็นเครื่องมือหรือเป็นเวทีในการฝึกตน แล้วเราก็มองงานของเราเป็นการฝึกตนทั้งหมด ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในวงงาน ฉันถือเป็นเรื่องที่จะใช้ฝึกฝนพัฒนาตนทั้งสิ้น คือ ฝึกกาย ฝึกใจ ฝึกความชำนิชำนาญ ฝึกความสามารถในการปฏิบัติต่ออารมณ์ต่างๆ ตลอดจนฝึกความสามารถในการแก้ไขปัญหาจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น เป็นการมองในแง่แก้ไขปรับปรุง

สถานการณ์ฝึกตนเกิดขึ้น คราวนี้เราแพ้ หรือเราบกพร่อง เราหย่อนตรงไหน สำรวจตัวเอง พบจุดแล้วก็แก้ไขปรับปรุงต่อไป ก็เลยสนุกกับการพัฒนาตน เป็นการสนุกอีกแบบหนึ่ง แต่สนุกแบบนี้สนุกได้ผลได้ประโยชน์ สนุกอย่างมีปัญญา... เราได้ความรู้สึกชื่นใจมีปีติ อิ่มใจที่พัฒนาตัวเองได้ด้วย ไม่ว่าจะเจออะไรก็ได้แก้ปัญหาและได้ปรับปรุงตัวเองอยู่เรื่อยไป เมื่อมองในแง่นี้เราจะเพลิดเพลินมีปีติมีความสุขกับงาน จึงขอเสนอให้ตั้งความรู้สึกอย่างนี้ คือมองว่าเราจะพัฒนาตน และถือเอางานเป็นเครื่องมืออันประเสริฐชนิดดีที่สุดในการพัฒนาชีวิตของเรา

ที่มา : ideafrombooks.blogspot.com (eakzaa)

ที่มา : รักษาใจ ยามรักษาคนไข้ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)