OKay Training | บทความ การพัฒนาบุคลิกภาพ

ทำความรู้จักบุคลิกภาพสำคัญทั้ง 5

ที่กำหนดความเป็นตัวเรา

"Personality (บุคลิกภาพ) คืออะไร ถ้าหากบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดหรือพัฒนาในตอนเด็ก หลังจากโตเป็นผู้ใหญ่ หากไม่พอใจในบุคลิกภาพของตัวเอง แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะสามารถพัฒนาบุคลิกภาพไปในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่"

ในบทความนี้เราจะทำความรู้จักบุคลิกภาพสำคัญทั้ง 5 ที่ทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา

เราอาจสงสัยว่าทำไมบางคนถึงกังวลบ่อยๆ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็จะกังวลตลอดเวลา แต่ในขณะที่อีกคนกลับสามารถผ่อนคลาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไร ก็จะไม่แสดงออกถึงความกังวล ทำไมบางคนชอบเข้าหาอันตรายชอบทำอะไรเสี่ยงๆ แต่บางคนชอบอยู่บ้าน บางคนใจกว้าง บางคนมีวินัยในตนเอง บุคลิกภาพอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

โชคดีที่นักจิตวิทยาได้ศึกษาบุคลิกภาพมานานหลายปี และได้เสนอปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา

บุคลิกภาพเกิดจากยีนส์และสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต

บุคลิกภาพเกิดจากสองปัจจัย ได้แก่ยีนส์และสิ่งแวดล้อม

ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเกิดจากยีนส์ นักวิจัยได้ทำการทดลองกับปลาหางนกยูง โดยเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงที่จับได้จากแหล่งน้ำที่มีความแตกต่างกันของนักล่า แน่นอนว่าลูกปลาที่เกิดขึ้นในห้องทดลองจะไม่เคยเจอนักล่ามาก่อน แต่เห็นได้ชัดว่าปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำที่มีนักล่าอยู่เยอะ (เช่นปลาหมอ) จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากปลาที่มาจากแหล่งน้ำที่ไม่มีนักล่า พวกมันมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดได้ดีกว่า มีพฤติกรรมการเคลื่อนไหว รีบหลบหนีเอาตัวรอดจากนักล่าได้

อีกส่วนของบุคลิกภาพเกิดจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตอนเด็กๆ ที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเอาตัวรอด ต้องเรียนรู้เพื่อเดิน เพื่อสื่อสาร และนั่นก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน ลูกคนแรกมักจะมีความรับผิดชอบสูงกว่าน้องคนอื่นๆ เพราะจะต้องดูแลน้องๆ และทำให้ส่งผลต่อตัวเค้าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย ทำให้มักจะพยายามหางานที่อาศัยความรับผิดชอบสูง

ความแตกต่างของบุคลิกภาพช่วยให้รักษาสปีชีส์ไว้ได้

สิ่งมีชีวิตจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้มีชีวิตรอด บุคลิกภาพเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการ การพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมจะทำให้สิ่งมีชีวิตเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ ได้

สัตว์บางชนิดมีความสามารถในการปรับตัวและสร้างความโดดเด่นขึ้นมา เช่น หางของนกยูงตัวผู้ ที่ทำให้สัตว์เอาชีวิตรอดและช่วยในการจับคู่ผสมพันธุ์ ทำให้ประสบความสำเร็จในการรักษาสปีชีส์เอาไว้ได้

แต่ในมนุษย์ บุคลิกภาพที่กำหนดความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่บุคลิกภาพที่โดดเด่นเพียงสิ่งเดียว มนุษย์ไม่ได้มีความพิเศษแบบนกยูงตัวผู้ แต่เรามีความหลากหลายของบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพแต่ละอย่างไม่ได้มีประโยชน์ต่อการเอาตัวรอดของมนุษย์เสมอไป บางบุคลิกภาพมีประโยชน์เฉพาะในสถานการณ์อันตรายเท่านั้น

จากการสัมภาษณ์นักปีนยอดเขาเอเวอร์เรส ว่าเอาชนะความกลัวได้ยังไง อัตราการเสียชีวิตของนักปีนยอดเขาที่มากถึง 1 ใน 10 ดังนั้นคนเหล่านี้จึงถูกมองว่ากล้าบ้าบิ่น สำหรับคนเหล่านี้การปีนเขาสำคัญกว่าชีวิตของตัวเองหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้น

คนเหล่านี้มักจะชอบความเสี่ยง ชอบท้าทาย ชอบการผจญภัย มักจะเป็นพนักงานดับเพลิงหรือตำรวจ หากไม่มีคนเหล่านี้ สังคมก็คงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ คนทั่วไปคงอยู่ไม่เป็นสุข แต่หากทุกคนกล้าบ้าบิ่น ขึ้นไปปีนยอดเขา ถ้าทุกคนชอบเสี่ยงตาย สังคมหรือสปีชีส์มนุษย์ก็คงสูญสิ้นได้

ดังนั้นการรักษาสมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในสังคมจึงต้องมีคนที่ชอบเสี่ยงชีวิต ต้องมีคนที่คอยระมัดระวังภัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีชีวิตรอดต่อไป เราจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน ความแตกต่างและความหลากหลายของบุคลิกภาพจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการรักษาสปีชีส์เอาไว้ได้

OCEAN บุคลิกภาพสำคัญทั้ง 5

หลังจากการวิจัยหลายปี นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบว่ามีบุคลิกภาพสำคัญอะไรบ้าง ก็ได้ข้อสรุปเป็นบุคลิกภาพทั้ง 5 หรือ Big Five บุคลิกภาพที่กำหนดจากคุณลักษณะที่เรามี ได้แก่

1. Openness

2. Conscientiousness

3. Extraversion

4. Agreeableness

5. Neuroticism

ลำดับของบุคลิกภาพไม่ได้มีนัยสำคัญ แค่ทำให้จำได้ง่ายๆ การใช้อักษรตัวแรกทำให้เราได้ชื่อย่อเป็น OCEAN

เราสามารถรู้บุคลิกภาพของตัวเองได้โดยใช้ แบบทดสอบเพื่อค้นหาบุคลิกภาพ Big Five Inventory (BFI) หรือ แบบทดสอบเพื่อค้นหาบุคลิกภาพ The Big Five Personality Test ซึ่งผลการทำแบบทดสอบจะทำให้เรารู้คะแนนในแต่ละด้าน

บุคลิกภาพ Openness

คือคนที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ สงสัยและสนใจเรียนรู้อยู่เสมอ คนที่มีระดับความเปิดกว้างสูงจะเป็นคนชอบคิดสิ่งใหม่ๆ ชอบสงสัย ในขณะที่คนที่ได้คะแนนต่ำ จะเป็นคนที่ทำอะไรสม่ำเสมอและมีความระมัดระวัง

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Openness มักจะ

1. ชอบการผจญภัย

2. เป็นคนเจ้าความคิด

3. เป็นคนแรกที่ลองทำกิจกรรมแปลกใหม่

การเปิดใจกว้างทำให้เข้าใจ ทำให้รู้ว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ทำให้รู้ว่าควรใช้เวลาทำอะไรมากที่สุด เช่น ถ้าเราเป็นเปิดกว้างก็ควรออกไปผจญภัย ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ถ้าได้คะแนนต่ำก็ควรใช้เวลาอยู่บ้าน ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย สิ่งที่ทำให้มีความสุข

ที่สำคัญคือเราต้องบอกให้คนอื่นๆ รู้ด้วยว่า เราเป็นคนเปิดกว้างหรือเราเป็นคนไม่เปิดกว้าง

บุคลิกภาพ Conscientiousness

คือคนที่มีประสิทธิภาพ มีระเบียบวินัยพึ่งพาได้ คนที่ได้คะแนนต่ำมักจะเป็นคนที่ชอบอะไรง่ายๆ ไม่จริงจัง ทำตัวสบาย ชิลล์

Conscientiousness คือความสามารถในการตั้งมั่นในเป้าหมาย และทำให้เป้าหมายสำเร็จ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงาน เป็นสิ่งที่ผู้จัดการ นักการขาย นักกฎหมายมีเหมือนกัน คนเหล่านี้อุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ลองนึกดูว่าเรากำลังจะอ่านหนังสือสอบ แต่เพื่อนชวนออกไปเที่ยวข้างนอก การมีวินัยในตนเองที่จะปฏิเสธเพื่อน ตั้งมั่นในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ความสำเร็จที่ทำได้ตามเป้าหมาย สำคัญมากกว่าความพึงพอใจในระยะเวลาสั้นๆ

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Conscientiousness มักจะ

1. มีระเบียบวินัยในตัวเอง

2. เตรียมพร้อมเสมอ

3. ชอบวางแผนมากกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ความตั้งมั่นในเป้าหมายจะช่วยให้รู้จัก จัดการเวลา จัดการงาน ทำตามแผนการ ทำให้งานประสบความสำเร็จ

สำหรับคนที่ได้คะแนนต่ำ มักจะไม่ยึดติดตามแผน มักจะคิดหาทางออกโดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้ว่าหากเกิดปัญหาควรจะขอความช่วยเหลือจากใคร

บุคลิกภาพ Extraversion

คือคนที่ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างมีพลัง มักจะชอบพบปะผู้คน สมองของคนเหล่านั้นมักจะให้รางวัลจากการทำงานได้สำเร็จ และทำให้อารมณ์ดี ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำจะเป็นคนที่เก็บตัวและชอบอยู่ตามลำพัง

อารมณ์ของเราขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราคิดหรือมองเห็น คนที่มีบุลิกภาพแบบ Extraversion มักจะมองด้านดีของสิ่งต่างๆ ทำให้มักจะเป็นคนที่ชอบผจญภัยและชอบออกไปข้างนอก

ในการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพแบบ Extraversion ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ดูคลิปที่ทำให้รู้สึกดีและรู้สึกแย่ จากนั้นจะมีการวัดระดับอารมณ์ของแต่ละคน คนที่เป็นคนประเภท Extravert จะพบว่ามีอารมณ์ดีมากขึ้นเมื่อได้ดูคลิปรู้ที่ทำให้สึกดี มากกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองคนอื่นๆ คนเหล่านี้คิดบวก มองโลกในแง่ดี

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extraversion มักจะ

1. เป็นศูนย์กลางของงานเลี้ยง

2. ชอบที่จะเป็นจุดสนใจของคนอื่น

3. มักจะเริ่มต้นการสนทนา

บุคลิกภาพ Agreeableness

คือคนที่นึกถึงใจคนอื่น เข้าใจคนอื่น เป็นมิตร และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตรงข้ามกับคนที่มักจะใช้สมองวิเคราะห์และมีความสันโดษ

Agreeableness คือการมองข้ามความจำเป็นส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เป็นบุคลิกภาพเฉพาะของมนุษย์ ในสัตว์อื่นๆ จะไม่แสดงออกมาให้เห็น ในการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับชิมแพนซี โดยให้นั่งตรงข้ามกัน มีคันโยกให้สองอัน คันโยกอันแรกจะทำให้ตัวเองได้รับอาหาร คันโยกอีกอันจะให้อาหารสำหรับทั้งสองฝั่ง คนส่วนใหญ่จะดึงดันโยกที่ให้อาหารสำหรับทั้งสองฝั่ง แต่ชิมแพนซีกลับดึงคันโยกสลับกัน สนใจเฉพาะการได้อาหารของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้สนใจว่าคู่ของตนเองจะได้อาหารหรือไม่

บุคลิกภาพ Agreeableness เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด บรรพบุรุษเราเอาตัวรอดได้ดีเพราะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกันในกลุ่ม

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Agreeableness มักจะ

1. เชื่อใจและเห็นประโยชน์ของคนอื่นโดยไม่ลังเล

2. สงสารและเห็นใจคนอื่น

3. มักจะชอบทำให้คนอื่นสบายใจ

บุคลิกภาพ Neuroticism

คือคนที่มักจะกังวลต่อหลายสิ่งโดยที่ไม่จำเป็น คนที่ตื่นตูมหลังจากที่ได้อ่านข่าวเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น คนที่จะย้ายบ้านหนีไปหลังจากที่รู้ข่าวว่าขโมยขึ้นบ้านเพื่อนบ้าน

แต่บุคลิกภาพแบบ Neuroticism ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีของคนที่กังวลคือมันทำให้เอาตัวรอดได้ คนที่คาดหวังสิ่งร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ มักจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อันตราย

บรรพบุรุษของเรา คนกังวลคือคนที่จะเก็บกักตุนอาหารไว้ใช้ในยามจำเป็นขาดแคลน ในขณะที่คนมองโลกในแง่ดีจะต้องอดอาหารตาย

จะเห็นว่าการที่มีบุคลิกภาพแบบ Neuroticism ก็มีข้อดีในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Neuroticism มักจะ

1. เครียดง่าย

2. เจ้าอารมณ์

3. ขี้กังวล

พยายามรู้ว่าตัวเองจุดติดได้ยังไง อะไรที่ทำให้โกรธหรือกังวล และอะไรที่ช่วยให้เรากังวลน้อยลงหรือสงบจิตใจเราได้

บุคลิกภาพแต่ละอย่างมีข้อดีและข้อเสีย

บางครั้งมันอาจดูน่ารำคาญที่ต้องอยู่กับคนขี้กังวล แต่ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เราก็จะแย่ เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ต้องการพัฒนาสิ่งต่างๆ คนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

คนที่มักจะกังวลจะรู้ว่าอะไรผิดและพยายามแก้ไขสิ่งนั้น คือคนที่กังวลเรื่องสภาพอากาศของโลกที่แย่ลง คนที่กลัวมลภาวะเป็นพิษ และอาจเป็นคนที่อุทิศตนเพื่อพัฒนารถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากไม่มีคนขี้กังวลในสังคม โลกนี้ก็คงไม่เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามากขึ้น

แต่ข้อเสียของคนขี้กังวลคือ คนเหล่านี้มักจะต้องประสบกับปัญหาโรคเครียดอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า เพราะกังวลและได้รับผลจากอารมณ์เชิงลบมากกว่าคนทั่วไป

คนที่ได้คะแนน Neuroticism สูง มักจะกังวลเมื่อเห็นคนอื่นทำท่าจะโกรธ คนเหล่านี้จะกังวลว่าตัวเองทำอะไรผิด และไม่มีสมาธิทำงานจนกว่าคนที่ทำให้กังวลจะจากไป

บุคลิกภาพแบบ Neuroticism มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่นเดียวกับบุคลิกภาพอื่นๆ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

การเข้าใจบุคลิกภาพจะช่วยพัฒนาตัวเอง

ประโยชน์ของการเข้าใจบุคลิกภาพของตัวเอง นอกจากเป็นเรื่องสนุกแล้วก็ยังมีประโยชน์ต่อชีวิตของเราด้วย

เรามักจะมองโลกในมุมมองเดิมๆ ทำให้มันจำกัดความเข้าใจของเรา การเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองจะช่วยให้เห็นมุมมองใหม่ๆ

หากเราต้องการสำเร็จ เราก็ต้องมองย้อนกลับไปดูบุคลิกภาพของตัวเอง เราจะใช้บุคลิกภาพที่เป็นเอกลัษณ์ของเราเพื่อทำให้ไปยังเป้าหมายได้ยังไง

เมื่อเราเข้าใจบุคลิกภาพ เราก็จะค้นหาจุดเด่นของตัวเองได้

สิ่งแวดล้อมในตอนเด็กมีส่วนทำให้พัฒนาบุคลิกภาพ ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป ไม่ว่าเราจะผ่านประสบการณ์มากแค่ไหน แต่บุคลิกภาพที่พัฒนาตั้งแต่เด็กจะอยู่กับเราต่อไป

นักวิจัยได้ศึกษาเรื่องนี้ โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทำแบบสอบถาม 3 ครั้ง เว้นช่วงห่างตลอดเวลา 12 ปี เป็นที่น่าแปลกใจที่คำตอบของคนเหล่านั้นยังคงใกล้เคียงของเดิมตลอดระยะเวลา 12 ปี

เห็นได้ชัดว่าบุคลิกภาพยึดติด และส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

แต่เราก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าบุคลิกเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มั่นใจและตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองคงเห็นต่างออกไป


ในบทความ Personality changes for the better with age ของ American Psychological Association พูดถึงผลการทดลองที่พบว่า เมื่อคนอายุมากขึ้น จะมีบุคลิกภาพแบบ Conscientiousness ที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20 ปี และยังพบว่าบุคลิกภาพแบบ Agreeableness จะเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงอายุ 30 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 60 ปี

คนจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นหลังจากเริ่มทำงาน และจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นเมื่อมีครอบครัว


ในบทความ Can You Change Your Personality พูดถึงงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Illinois สรุปไว้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่พอใจบุคลิกภาพของตัวเอง แต่หลายคนก็ยังไม่ตั้งใจจริงที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตัวเอง

บุคลิกภาพก่อตัวขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนหนึ่งมาจากยีนส์และอีกส่วนมาจากสิ่งแวดล้อมตอนเด็กๆ


เราสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ ถ้าเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมได้ เราก็อาจเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพได้เช่นกัน

เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนสถานการณ์ชีวิต


คนขี้กังวลอาจเป็นเพราะต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ทำให้เหงาและโดดเดี่ยว ดังนั้นหากเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิต ก็อาจทำให้คนกังวลน้อยลงได้ แต่ก็ต้องอาศัยความพยายามและความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองใหม่

สรุป

บุคลิกภาพเป็นกุญแจสำคัญ เป็นสิ่งที่เกิดจากยีนส์และสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต บุคลิกภาพพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก มันจะกลายเป็นข้อดีและข้อเสียของเรา มันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิต การเข้าใจบุคลิกภาพของเราเองจะช่วยให้มีชีวิตที่ดีได้

เราสามารถเลือกได้ ว่าจะมองบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวตลอดไป หรือจะมองว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ มันอาจจะยาก แต่ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาตัวเอง ก็ต้องมีความตั้งใจจริง

ที่มา : nicetofit.com